“คนเราไม่ควรที่จะหยุดเรียนรู้ พยายามเบลอเส้นขอบที่ตั้งไว้ตอนอายุ 60 ปี ไม่ต้องไปคิดว่าเราจะต้องหยุดทำอะไร แค่ทำไปเรื่อย ๆ แต่ถ้ามีโอกาสก็อาจจะลองทำอะไรให้กับสังคมบ้าง แล้วเราจะได้อะไรกลับคืนมามากมายกว่าที่เราคิด”
.
มนุษย์ต่างวัย คุยกับ รศ. ดร.นัทธี สุรีย์ รองผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมการศึกษา วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้านักวิจัยโครงการเกษียณมีดี ถึงจุดเริ่มต้น เป้าหมาย และความสำเร็จของโครงการเกษียณมีดี ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงวัย คืนความสุข ความภาคภูมิใจ และคุณค่าให้กับชีวิตวัยเกษียณ
.
◾ จุดเริ่มต้นของโครงการเกษียณมีดีที่อยากให้วัยเกษียณ มีกิน มีใช้
“โครงการเกษียณมีดีเกิดขึ้นเมื่อปี 2564 ช่วงนั้นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพิ่งตั้งวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิตขึ้นมา เพราะเรามีปณิธานว่าองค์ความรู้ไม่ควรจำกัดอยู่แค่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่คนทุกเพศ ทุกวัยควรเข้าถึงได้ ตอนนั้นสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีโครงการที่เป็นร่มใหญ่โครงการหนึ่งชื่อว่าโครงการ ‘เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง’ และเปิดให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เสนอโครงการวิจัยเข้าไป ‘เกษียณมีดี’ จึงนับเป็นโครงการวิจัยที่เราเสนอขอทุนเพื่อส่งเสริมการสร้างความรู้ให้กับผู้สูงวัย ช่วยแนะนำแนวทาง เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถดึงเอาศักยภาพและประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ออกมาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ในโลกปัจจุบัน
.
“เราเริ่มโครงการจากการสร้างบทเรียนออนไลน์ 15 บทเรียนไว้ในระบบ CMU MOOC (การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ระบบเปิดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ออกแบบมาเพื่อให้คนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษาหรือบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ปรากฏว่าไม่มีผู้สูงวัยเข้ามาเรียนเลย เพราะเขาไม่คุ้นชินกับการใช้งานเทคโนโลยีแบบนี้ เราก็เลยไปร่วมงานกับชมรมผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่ เปลี่ยนช่องทางการเรียนรู้มาใช้ระบบไลน์แอปพลิเคชัน ทำให้กลายเป็นแพลตฟอร์มแรกของประเทศที่สามารถเรียนรู้ผ่านไลน์ได้ ซึ่งผู้สูงวัยก็ชื่นชอบและสมัครเข้ามาเรียน แล้วเขาก็แชร์ไปยังกลุ่มไลน์ต่าง ๆ ตั้งแต่นั้นมาเราก็แทบไม่ต้องโฆษณาหลักสูตรของเราอีกเลย
.
“พอผู้สูงวัยเข้ามาเรียนรู้บทเรียนต่าง ๆ และทำแบบทดสอบได้คะแนน 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ก็จะได้ประกาศนียบัตรจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งหลักสูตรไม่ได้จำกัดไว้สำหรับผู้สูงวัยเท่านั้นคนทั่วไปก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ กลายเป็นคอมมูนิตี้ ‘มีดี’ ที่สามารถพูดคุยกันได้ และสร้างเป็นตลาดออนไลน์ ‘คนมีดี’ ขึ้นมา ให้เขาสามารถเข้ามาทดลองขายสินค้าต่าง ๆ ผ่านช่องทางนี้ได้”
.
◾ เพราะคุณภาพชีวิตที่ดี เริ่มต้นที่สุขภาพกายและใจที่ดี
“ช่วงแรกที่เริ่มต้นโครงการ เป้าหมายของเราคือการสร้างรายได้ให้ผู้สูงวัย ลดภาวะพึ่งพิงต่อครอบครัวและสังคม แต่พอเราทำไปสักพัก เราพบว่าผู้สูงวัยที่เข้ามาเรียนรู้กับโครงการเกษียณมีดีนั้น หลายคนไม่ได้ต้องการรายได้เพิ่ม แต่ต้องการสังคม ต้องการเพื่อน ต้องการการเรียนรู้ที่สนุกสนาน เราก็เลยตั้งเป้าหมายใหม่ว่าเราจะไม่มุ่งเน้นไปที่การสร้างรายได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่จะสร้างสุขภาวะที่ดี หรือ Well-being ให้กับผู้สูงอายุ ครอบคลุมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วย
.
“ถึงแม้ตอนแรกเราจะคิดว่าการมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น เรื่องปากท้องต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง เราต้องไปช่วยเรื่องการสร้างรายได้ก่อน แต่พอเราลงไปทำงานจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ สิ่งที่เราเจอก็คือเรื่องที่ต้องมาอันดับหนึ่งคือเรื่องสุขภาพ เพราะคนเราถ้าสุขภาพไม่ดี เขาก็จะไม่ออกมาเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ไม่ออกมาสร้างรายได้ให้กับตัวเอง และจะไม่ออกมาทำอะไรเพื่อสังคมหรือชุมชน เพราะเขาเองยังต้องกังวลในเรื่องสุขภาพอยู่”
.
◾ จากหลักสูตรออนไลน์สู่การสร้างเครือข่ายทางสังคม
“เราเข้าไปทำงานร่วมกับชมรมผู้สูงอายุ และโรงเรียนผู้สูงอายุ จนได้ทำงานกับเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยซึ่งมีประมาณ 2,500 แห่งทั่วประเทศ เราเดินทางไปในทุกภูมิภาคเพื่อไปสร้างครูแกนนำ หรือ ‘มีดีเทรนเนอร์’ เพื่อไปสอนให้เขาสามารถนำหลักสูตรมีดีไปใช้ในโรงเรียนของเขาได้
.
“สำหรับหลักสูตรที่เราสอนก็มีตั้งแต่เรื่องของพื้นฐานการใช้เทคโนโลยี การพัฒนาธุรกิจออนไลน์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ เกษตรอินทรีย์ การรู้เท่าทันสื่อ ฯลฯ ในอนาคตคิดว่าเราจะทำหลักสูตรเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพจิตเพิ่มเติม เพราะปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในสังคม คนเรามีปัญหาสุขภาพจิตกันมากขึ้น ยิ่งในผู้สูงอายุก็พบปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง พอสุขภาพจิตแย่ สุขภาพกายก็จะแย่ตาม เราจึงคิดว่ามีความจำเป็นต้องดูแลในประเด็นนี้”
.
◾ ต่อยอดความสำเร็จระดับภูมิภาคสู่ระดับประเทศ
“ปัจจุบันโครงการเกษียณมีดีทำงานกับผู้สูงวัยไปแล้วประมาณ 26,000 คน และผู้เข้าร่วมโครงการวัยอื่น ๆ อีกประมาณ 10,000 กว่าคน ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ และสร้างรายได้ให้ชุมชนไปแล้วกว่า 40 ชุมชน ซึ่งหลาย ๆ ชุมชนก็มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลชัดเจน อย่างการค้นพบทักษะใหม่ของคุณแม่ที่ชุมชนป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน ที่พบว่าตัวเองเป็นคนชอบพูดชอบคุย และขายออนไลน์เก่งมาก สามารถขายของจนปลดหนี้เกือบหนึ่งแสนบาทได้ และยังชักชวนผู้สูงวัยคนอื่น ๆ ในชุมชนให้เข้ามาทำงานร่วมกัน ทางเทศบาลและชุมชนเองก็มีการสร้างไลน์แอปพลิเคชัน ‘ป่าไผ่มีดี’ เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในชุมชนให้ขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้น
.
“คุณแม่บางท่านอายุเกือบ 70 ปีแล้ว แต่เข้ามาเรียนรู้กับหลักสูตรออนไลน์ของเกษียณมีดีแทบทุกหลักสูตรจนสามารถทำผลิตภัณฑ์ซักล้าง ทำความสะอาดของตัวเอง และจดทะเบียนเครื่องหมาย อย. ได้ ช่วงแรกก็ทำขายแถวบ้าน แต่ทุกวันนี้ออเดอร์เข้ามาจากทั่วประเทศ ทำไม่ทัน จนลูกต้องมาช่วยทำ หรือจะเป็นคุณแม่วัย 65 ปี จาก ต.ฝายแก้ว ที่ชอบความสวยงามและการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่ทำงานผ้าพิมพ์ลายใบไม้สร้างรายได้ให้กับตัวเองและชุมชน และยังไม่หยุดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมทั้งตั้งใจอยากถ่ายทอดความรู้ที่มีให้เป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพใหม่และรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนด้วย
.
“อีกหนึ่งโครงการที่ถือเป็นการต่อยอดและขยายโครงการไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศคือโครงการเสริมสร้างทักษะผู้ประกอบการสูงอายุรุ่นที่ 1 โดยความร่วมมือของแอร์เอเชีย, SCB Academy, มนุษย์ต่างวัย และโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวา ซึ่งถ้าผลลัพธ์ของโครงการเป็นไปอย่างที่ตั้งใจไว้ ก็จะกลายเป็นโมเดลต้นแบบที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ ผมคิดว่ามีหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ถ้าเราได้มาทำงานร่วมกัน ก็จะเป็นการช่วยเติมเต็มในสิ่งที่แต่ละหน่วยงานยังขาดอยู่ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น”
.
◾ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนชีวิตผู้สูงวัย แต่เปลี่ยนไปถึงหัวใจของคนทำงาน
“ผมไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาสได้เข้ามาทำงานนี้ การได้ทำงานกับผู้สูงอายุทำให้ผมรู้สึกเหมือนมีพ่อแม่อยู่ทั่วประเทศ และทำให้เป้าหมายชีวิตเปลี่ยนไป กลายเป็นว่าเรื่องเงินหรือความสำเร็จกลับไม่ใช่ปัจจัยหลักในการใช้ชีวิต แต่เป้าหมายเป็นแค่ความสุขจากการทำงาน การที่เราอยากตื่นเช้ามาทำงานทุกวัน เพราะเราได้เห็นแล้วว่าสิ่งที่เราทำมันมีความหมาย มันเปลี่ยนแปลงชีวิตคนอื่นได้จริง
.
“สำหรับชีวิตคนคนหนึ่งการได้สร้างอิมแพ็กขนาดนี้ มันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่ เป็นความภูมิใจของเรา ทำให้รู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว และมีพละกำลังที่จะสร้างสรรค์และพัฒนางานของเราต่อไป”
.
◾ ไม่มีคำว่า “เกษียณ” สำหรับการเรียนรู้
“ผมอยากให้พวกเราลองมองว่าการเกษียณก็เป็นข้อดี ที่ทำให้เราเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองได้ สำหรับผู้ที่กำลังจะเป็นผู้สูงวัยในวันข้างหน้าอยากให้เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของชีวิตในทุกมิติ พยายามรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และสร้างรายได้ให้เพียงพอสำหรับดูแลชีวิตในวันที่อายุมากขึ้น
.
“โลกมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ถ้าเราหยุดพัฒนาตัวเองก็เหมือนเราเดินถอยหลัง ยิ่งในผู้สูงวัย ถ้าเขาหยุดเรียนรู้ สมองก็จะเสื่อมลงเรื่อย ๆ อีกอย่างที่เราค้นพบก็คือการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความสุขเพิ่มขึ้น เรามีผลวิจัยว่าหลังจากที่ผู้สูงวัยได้เรียนรู้ในโครงการไปแล้ว ดัชนีชี้วัดความสุขเพิ่มขึ้น เพราะผู้สูงวัยเขารู้สึกว่าเขาประสบความสำเร็จในการทำอะไรบางอย่าง สามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ และตัวเขาเองยังมีคุณค่าอยู่
.
“ความตั้งใจจริง ๆ ของผมคืออยากให้ผู้สูงวัยสามารถดูแลตัวเองได้ และอยากให้คนไทยมีวัฒนธรรมการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าในวันข้างหน้าอาจจะไม่มีโครงการเกษียณมีดีแล้ว เราก็จะยังมีชุมชนที่เข้มแข็งและมีสังคมสูงวัยที่ยังยืนต่อไป”
…
#สสส #วัยนี้วัยดี #ชีวิตดีดีสร้างได้ทุกวัย #มนุษย์ต่างวัย #Manoottangwai #ชุมชน #ผู้สูงวัย #เกษียณมีดี #พลังเกษียณสร้างชาติ #เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง
…
ติดตามการอัปเดตในทุกช่องทางของ ‘มนุษย์ต่างวัย’ ได้ที่
Website : https://bit.ly/3bXNDjG
YouTube : https://bit.ly/3KTgKFO
LINE Official : https://lin.ee/siekPKY
Instagram : https://bit.ly/3oWnes5
Twitter : https://twitter.com/manoottangwai
TikTok : https://bit.ly/3LNavSX
[ ข่าวต้นฉบับ ]