ภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) หมายถึงภาวะที่ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง สมองสูญเสียหน้าที่การทำงานในด้านต่างๆ ทำให้กระบวนการรู้คิด (Cognition) บกพร่อง จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและการอยู่ร่วมกันในสังคม ถือเป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยและเป็นปัญหาที่สำคัญในผู้สูงอายุ

ภาวะปริชานหรือการรู้คิดบกพร่องบกพร่องเล็กน้อย (Mild cognitive impairment) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เอ็มซีไอ (MCI) เป็นภาวะของสมองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างภาวะสมองเสื่อมและภาวะสมองที่มีการรู้คิดปกติ เป็นภาวะที่อยู่ระหว่างการหลงลืมปกติ (normal forgetfulness) ของผู้สูงอายุกับภาวะสมองเสื่อมระยะแรก (early dementia) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เชื่อว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะพัฒนาไปสู่ภาวะสมองเสื่อมในอนาคตได้

ปกติแล้วเซลล์สมองจะมีโอกาสเสื่อมลงได้เมื่อคนเรามีอายุ 40 ปีขึ้นไปเช่นเดียวกับอวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายก็เริ่มสึกหรอไปตามสภาพและจะปรากฏอาการเด่นชัดในช่วงหลังอายุ 65 ปี ดังนั้นผู้สูงอายุจึงควรมีการดูแลและพัฒนาเซลล์สมอง โดยการออกกำลังกายลับสมองอยู่เป็นประจำจะยิ่งช่วยคงความแข็งแรงของสมองได้อย่างดี

ภาวะสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากอายุที่มากขึ้นทำให้สมองเริ่มเสื่อมสภาพ หรือเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูงหรือโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ มีการติดเชื้อหรือเกิดเนื้องอกในสมอง สมองถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง การขาดสารอาหารบางชนิด เช่นวิตามินบี 1 และบี 12 หรือเกิดจากโรคพิษสุราเรื้อรัง เป้นต้น

“โรคอัลไซเมอร์” (Alzheimer’s Disease) เป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ  พบได้มากถึงร้อยละ 60-80 และยังสามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป พบว่าสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้อีกด้วย โรคอัลไซเมอร์เกิดจากความเสื่อมสภาพของเซลล์สมอง หรือเกิดจากความผิดปกติหรือสารเคมีในสมอง ส่งผลให้สารสื่อประสาทที่ช่วยในการจดจำสิ่งต่างๆ มีปริมาณน้อยลง ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มักมีปัญหาเรื่องความจำระยะสั้น เช่นการเล่าเรื่องซ้ำๆ พูดหรือถามคำถามซ้ำๆ เมื่อมีอาการมากขึ้นจะเกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตรวมถึงการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันด้วย ท้ายที่สุดก็ต้องพึ่งการดูแลจากผู้อื่น เพราะดูแลตนเองไม่ได้อีกต่อไป

รู้ได้อย่างไร….ว่ามีภาวะสมองเสื่อม?
  1. สูญเสียความจำที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น ลืมว่าเพิ่งรับประทานอาหารไป และไม่สามารถจดจำอะไรได้เลย
  2. ทำกิจวัตรประจำวันที่คุ้นเคยด้วยความยาก เช่น ลืมวิธีหรือขั้นตอนการทำอาหาร ลืมวิธีการแต่งตัว
  3. มีปัญหาในการใช้ภาษา เช่น ลืมคำง่ายๆ ใช้คำผิดความหมาย พูดคำผิด ทำให้สื่อสารกับผู้อื่นลำบาก
  4. สับสนวันเวลาและสถานที่ เช่น หลงวัน เวลา บอกสถานที่บ้าน ที่อยู่ไม่ได้ หลงทาง กลับบ้านตนเองไม่ถูก
  5. ตัดสินใจไม่เหมาะสม เช่น ใช้จ่ายเงินแบบไม่สมเหตุสมผล
  6. มีปัญหาเกี่ยวกับความคิดรวบยอด เช่น ไม่สามารถรวมเลข ด้วยวิธีคำนวณง่ายๆ
  7. เก็บสิ่งของผิดที่ เช่น เก็บเตารีดในตู้เย็น เก็บนาฬิกาข้อมือไว้ในโถน้ำตาล
  8. อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย เช่น เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ และเปลี่ยนเป็นโมโหภายในไม่กี่นาที
  9. บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น กลายเป็นคนช่างหวาดกลัว
  10. ชอบเก็บตัว ขาดความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต เช่น นั่งหรือนอนทั้งวัน ไม่อยากออกไปไหน ไม่อยากเจอผู้คน
สมองเสื่อมป้องกันยังไง

1) การออกกำลังกาย
การออกำลังกายที่ช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้คือการออกกำลังกายแบบแอโรบิคโดยต้องทำต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาที อาทิตย์ละอย่างน้อย 3 ครั้ง เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค ฯลฯ (CD สูงวัย ขยับกาย สบายสมอง ออกกำลังกายด้วยตาราง 9 ช่อง (7-9-2-2)

2) การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก ผลไม้ ธัญพืช ปลา ฯลฯ การไม่สูบบุหรี่ การไม่ดื่มสุรามากเกินไป หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บทางศีรษะ การมีกิจกรรมทางกาย เช่น การเดิน ทำสวน ทำงานบ้าน การมีกิจกรรมทางสังคม การป้องกันโรคเรื้อรังและตรวจรักษาสม่ำเสมอ และการควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นภาวะสมองเสื่อมได้

3) เกมฝึกสมอง
แนะนำให้มีกิจกรรมที่มีการใช้ความคิดอย่างสม่ำเสมอ เช่น สรุปใจความจากการอ่านหนังสือหรือจากการฟังวิทยุ เริ่มทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น ฝึกเล่นดนตรี เต้นรำ รวมถึงการฝึกสมองในกิจวัตรประจำวัน เช่น ฝึกใช้มือที่ไม่ถนัดแปรงฟัน กวาดบ้าน วาดเขียน หรือบวกเลขทะเบียนรถตามท้องถนน เล่นเกมที่กระตุ้นให้ใช้ความคิด ซึ่งกิจกรรมฝึกสมอง รวมถึงเกมต่างๆ ไม่ควรยากจนเกินไปทำให้เครียด ควรฝึกอย่างผ่อนคลาย ดังนั้นเกมที่ยกตัวอย่างสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกับผู้ฝึกแต่ละท่านและเมื่อท่านทำแล้วสามารถให้ผู้อื่นเปลี่ยนเกมให้ท่านเล่นได้อีก เช่น เปลี่ยนตัวเลข เปลี่ยนคำ เกมต่างๆ ท่านควรทำให้ถูกต้องมากที่สุดโดยที่ควรใช้เวลาให้น้อยที่สุด

เกมฝึกสมอง

เกมที่สามารถเล่นเองได้ง่ายๆ ในคลิปวีดีโอจะมีตัวอย่าง 6 เกมส์ ดังนี้

  1. เกมสลับนิ้วโป้ง-ก้อย
  2. เกมจีบนิ้วสลับข้าง
  3. เกมสลับนิ้ว 1-5
  4. เกมทุบมือสลับแบมือ
  5. เกมเคาะหัวลูบท้อง
  6. เกมอ่านสีแยกสมอง

Clip VDO ความรู้สำหรับผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม

หลากหลาย Clip VDO เสริมสร้างความรู้ ทั้ง Clip ภาพยนต์สั้น งามสัมมนา บทสัมภาษณ์ต่างๆ ทั้งเรื่องสุขภาพ อาหาร เทคโนโลยี เป็นต้น โดย วิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิมากมายหลากหลายสายงาน 

แผ่นภาพความรู้

แผ่นภาพความรู้ หรือ Infographic มาจากคำว่า Information + graphic อินโฟกราฟิกจึงหมายถึง การนำข้อมูลหรือความรู้มาสรุปเป็นข้อมูลภาพ ซึ่งอาจประกอบด้วย สัญลักษณ์ กราฟ แผนภูมิ ไดอะแกรม แผนที่ เป็นต้น ทำให้เข้าใจง่าย รวดเร็ว และชัดเจนมากขึ้น 

หลักสูตรสำหรับช่วยผู้มีปัญหาภาวะสมองเสื่อม